top of page

ประวัติความเป็นมา

ประวัติวัดช่องแสมสาร

(ครบรอบ ๙๒ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๖๕)

วัดช่องแสมสาร หมู่ที่ ๒ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ หรืออาจกล่าวได้ว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังมีหลักฐานเก่าแก่ ที่เห็นได้ชัดจากสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด โดยเฉพาะเจดีย์บนเขาวิหารหลวงพ่อดำ กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ พระอาจารย์ดำรง คุณาสโภ ได้มาปักกลด ณ บริเวณพระเจดีย์เก่าแก่ ปรารภนิมิตที่ให้มาสร้างพระบนเขานี้ เจดีย์บนเขาวิหารหลวงพ่อดำ ของวัดช่องแสมสารแห่งนี้เหมือนกันกับเจดีย์กลางน้ำที่ปากน้ำระยองและเกาะสีชังเพราะเหตุนี้ กรมศิลปกรได้ขึ้นทะเบียนเจดีย์ดังกล่าวเป็นโบราณสถานของทางราชการ ตำบลแสมสารเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ตามหลักฐานเอกสารแผนที่ ปราจีนบุรี ที่ ๔.๔๗.๒๓ กรมแผนที่ สำรวจเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ พิมพ์ที่กรมแผนที่ พ.ศ.๒๔๗๓ ซึ่งสำเนาได้มาจากหอสมุดแห่งชาติ ระบุว่า อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีหมู่บ้านปกครองอยู่หลายหมู่บ้าน รวมถึงหาดยาว บ้านช่องแสมสาร ซึ่งปัจจุบันรวมเป็นตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และมีวัดในพระพุทธศาสนา ๒ วัด ต่อมาได้รวมเป็นวัดช่องแสมสาร อีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า หมู่บ้านช่องแสมสารมีอยู่ก่อน ร.ศ.๑๓๐ นั่นก็คือ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ เรื่องเสด็จประพาสเมืองจันทบุรี เมื่อปี ร.ศ.๑๓๐ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ ที่ค่ายหลวงตำบลอ่างศิลา ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๙ ใจความตอนหนึ่งว่า “ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล จันทบุรี ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งด้วย เพื่อจัดการรับเสด็จที่เกาะช้าง เกาะเสม็ด และช่องแสมสาร เวลาบ่ายต่อไป วันที่ ๒๕ เมษายน เวลาย่ำรุ่งเศษ เรือพระที่นั่งจากเกาะเสม็ด มาทอดสมอในช่องแสมสาร เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ ทรงเรือกรรเชียง เรือยนต์จูง เสด็จขึ้นประพาสหาดทราย” และอีกตอนหนึ่งว่า “เมื่อเวลาคืนนั้นมีเรือที่เราต้องแก้ไขเครื่องจักรและเครื่องต่าง ๆ ซึ่งไม่เรียบร้อยนั้นให้ดีขึ้นเป็นปรกติ เวลาย่ำรุ่ง ๑๕ นิมิต เราได้ออกเรือจากแสมสาร เรือเดินเร็วกว่า แต่ก่อนมีเหตุบ้างเล็กน้อย แต่ใบจักรชำรุด ต้องหยุดแก้ไขบ้าง ครู่หนึ่งแล้วแล่นต่อไป เมื่อขณะเรือมาตามนั้น เห็นปลาโออยู่เป็นหมู่ๆ หลายสิบตัว เวลาเที่ยงเรือถึงอ่างศิลา” วัดช่องแสมสารมีเจ้าอาวาสปกครองวัดสืบต่อกันมา ดังนี้ รูปที่ ๑ พระอาจารย์ไฉ้, รูปที่ ๒ พระอาจารย์ทุ่ง, รูปที่ ๓ พระอาจารย์เหม, รูปที่ ๔ พระอาจารย์แก้ว, รูปที่ ๕ พระอาจารย์ตระการ, รูปที่ ๖ พระครูสิริสารคุณ และรูปที่ ๗ พระครูวิสารทสุตากร (พระมหารัตนะ สีลเตโช) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน และเป็นเจ้าคณะตำบลพลูตาหลวง ดังจะเห็นได้ว่า วัดช่องแสมสารมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน แต่ไม่ได้จัดทำประวัติไว้อย่างชัดเจน ท่านพระครูวิสารทสุตากร เมื่อได้มาเป็นเจ้าอาวาส จึงได้สอบถามญาติโยมคนเก่าๆ ซึ่งผ่านวัยมาโดยลำดับ จึงได้ทราบประวัติความเป็นมาโดยสังเขป อันจะทำให้อนุชนคนรุ่นหลังทราบถึงความเป็นมาเป็นไปได้ดีขึ้น กล่าวคือ ก่อน พ.ศ.๒๔๘๐ พระอาจารย์ใช้ ได้มาพัฒนาวัดบุกเบิกเป็นที่พักสงฆ์ จำเนียรกาลผ่านมาถึง หลวงพ่อทุ่ง มาเป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑-๒๔๙๒ และได้กลับไปจำพรรษาที่บ้านอำเภอ ในระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๒-๒๕๐๕ หลวงพ่อเหม มาเป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๐๕ พระอาจารย์แก้ว กิตฺติปาโล ซึ่งท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และต่อจากพระอาจารย์แก้ว ก็มาเป็นพระอาจารย์ตระการ (หลายท่านอาจมีข้อกังขาว่า หลวงพ่อทัต วรุตฺตโม พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งภาคตะวันออก ไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสหรือ ไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสก็จริง ถึงอย่างนั้น หลวงพ่อทัต วรุตฺตโม ท่านเป็นที่ปรึกษาเจ้าอาวาสในการบริหารงานกิจการคณะสงฆ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๕-๒๕๑๖ ซึ่งปี ๒๕๑๖ นี้ เป็นปีที่ท่านได้มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๖ รวมสิริอายุได้ ๘๔ ปี ๑๑ เดือน ๑๖ วัน อันว่า ประวัติหลวงพ่อทัตนั้น ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น) เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ มาโดยลำดับ จนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๒๒ พระครูสิริสารคุณ เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ได้พัฒนาวัดช่องแสมสาร เจริญขึ้นโดยลำดับ ท่านพระครูสิริสารคุณได้มรณภาพ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ปัจจุบัน วัดช่องแสมสาร มีพระครูวิสารทสุตากร เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งก่อนหน้านี้ ในปีพ.ศ.๒๕๔๑ ได้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดช่องแสมสาร และได้เป็นเจ้าอาวาสในกาลต่อมา นอกจากนี้ท่านพระครูวิสารทสุตากรยังเป็นเลขานุการเจ้าคณะตำบลพลูตาหลวง เป็นสมาชิกสภาสงฆ์ พระธุรนิเทศก์ จังหวัดชลบุรี และเป็นพระกรรมวาจารย์ แต่ปัจจุบันท่านพระครูวิสารทสุตากร เป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลพลูตาหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๑ ถึงปัจจุบัน ท่านพระครูวิสารทสุตากร ได้พัฒนาวัดช่องแสมสารให้เจริญ มีการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ มากมาย และบูรณะเสนาสนะภายในวัด จนเป็นที่ประจักษ์ชัดและรู้กันโดยทั่วไปทั่วทั้งประเทศว่า วัดช่องแสมสาร มีความเจริญ เป็นแดนหลั่งไหลมาแห่งบุญ หรือเป็นที่แสวงบำเพ็ญบุญ อนึ่ง วัดช่องแสมสาร จะมีอายุครบ ๙๒ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๖๕ นี้ ดังนั้น ขอเชิญชวนท่านสาธุชนร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ บูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอดอุโบสถได้ทุกวัน

_DSC5051.JPG
_DSC5170.JPG

ประวัติหลวงพ่อดำ

(พระสัมพุทธมหามุนี ศรีคุณาศุภนิมิต)

เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๑ ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ อาจารย์ดำรง คุณาสโภ เดินทางมาปักกลด ณ บริเวณพระเจดีย์เก่าแก่บนเขาของวัดช่องแสมสาร ท่านได้เล่าให้ญาติโยมที่ไปกราบไหว้ท่านฟังว่า ท่านจำพรรษาอยู่วัดเขาขึ้น อำเภอเดิมบางนางบวชจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านเดินทางมานี้ เพราะท่านได้นิมิตฝันว่าให้ท่านมาทางชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก จะมีเจดีย์เก่าแก่อยู่บนเขาใกล้ๆทะเลให้มาสร้างพระที่เขานี้ ต่อไปจะเป็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ท่านได้ออกเดินทางจากวัดเขาขึ้นกว่าจะถึงที่นี่เป็นเวลาหลายวันเพราะการเดินทางนั้นที่ไหนมีหมู่บ้านติดทะเล ท่านก็จะแวะดูเรื่อยมาจนถึงบ้านช่องแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี คือสถานที่ๆท่านปักกลดอยู่นี้ ซึ่งเป็นสถานที่ทุกอย่างมีสภาพตรงตามที่ท่านนิมิตฝัน ท่านจึงชักชวนญาติโยมช่วยกันบริจาควัสดุในการสร้างพระ ซึ่งได้รับศรัทธาร่วมมือด้ว ในสมัยนั้นยังไม่มีทางรถยนต์ จึงจำเป็นต้องใช้แรงงานคนแบกขนวัสดุขึ้นไป การสร้างใช้เวลาสร้างประมาณ ๒ ปี จึงแล้วเสร็จและทารักดำตั้งเป็นสง่าอยู่กลางแจ้ง โดยไม่มีหลังคาคลุมแต่อย่างใด ชาวบ้านชาวเรือ และผู้พบเห็นจึงเรียกว่า หลวงพ่อดำกันจนติดปาก ทั้งๆที่ตอนสร้างเสร็จท่านได้ตั้งชื่อว่า พระสัมพุทธมหามุนี ศรีคุณาศุภนิมิตร ซึ่งชื่อในตอนท้ายเป็นเครื่องบอกว่า เป็นพระที่เกิดจากความฝันดี หลังจากสร้างเสร็จประมาณ ๑ เดือน ได้จัดงานฉลองพระ และทำพิธีเบิกพระเนตร ซึ่งได้จัดพิธีบวงสรวงและมีมหรสพสมโภชอย่างใหญ่โต ในครั้งนั้นได้มีการผูกหุ่นฟาง ๒ หุ่น เพื่อเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อดำ หลังจากเสร็จพิธีก็เผาหุ่นฝาง พิธีทั้งหมดนี้กระทำโดยท่านอาจารย์ทอง หลวงพ่อดำได้ตั้งตากแดดอยู่กลางแจ้งอย่างนั้นเป็นเวลาถึง ๑๐ กว่าปี จนมีชาวประมงจากจังหวัดสมุทรปราการ วิ่งเรือผ่านมาเห็นหลวงพ่อดำตากแดด จึงบนขอพรว่าออกเรือเที่ยวนี้ให้ได้ ๒๐๐,๐๐๐ บาท จะมาทำหลังคาให้ ปรากฏว่าได้ดังคำขอ จึงเอาเงินมาฝากผู้ใหญ่บ้าน เจริญ ทิศาบดี ให้ช่วยทำหลังคาให้หลวงพ่อดำให้ด้วย แต่ไม่มีฝา ฝนยังสาดเปียกอยู่ ชาวประมงอีกรายหนึ่ง ผ่านมาก็บนหลวงพ่อดำอีก ขอให้ได้ดีๆ จะกั้นฝาให้ ปรากฏว่าได้สมหวังก็เอาเงินมาฝากผู้ใหญ่ให้ช่วยทำเหมือนเดิม สภาพวิหารหลวงพ่อดำในช่วงนั้น จึงเป็นเพียงมีหลังคา และฝาไม้สามด้าน แต่ก็มีชาวเรือและประชาชนทั่วไปขึ้นไปนมัสการกราบไหว้เป็นจำนวนมาก เพราะว่าส่วนใหญ่จะบนบานศาลกล่าวขออะไรมักจะสมหวัง อีก ๑๐ ปีต่อมาสภาพวิหารได้เริ่มผุจนใกล้จะพังลงมา จนใช้งานไม่ได้ พระครูสิริสารคุณ เจ้าอาวาส และชาวบ้านแสมสารได้ช่วยกันทำนุบำรุงบูรณะเขาเจดีย์มาโดยลำดับ และต่อมาผู้ใหญ่เสน่ห์ พิทักษ์กรณ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัดชลบุรี ได้ร่วมกับเจ้าอาวาส คือ พระครูสิริสารคุณ และชาวบ้าน สร้างเป็นวิหารจัตุรมุขพร้อมจิตรกรรมปูนปั้นเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งหาชมได้ยากในยุคปัจจุบัน พ.ศ.๒๔๔๑ พระครูวิสารทสุตากรได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้ปรับพื้นที่โดยรอบเขาเจดีย์ให้มีลานจอดรถยนต์ได้โดยสะดวก พร้อมทั้งป้ายคำขวัญและทัศนียภาพต่างๆ ในแต่ละวันจะมีประชาชนเดินทางมานมัสการขอพรและแก้บนสิ่งที่ตนปรารถนาไม่ขาด เรื่องราวพุทธานุภาพปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อดำมีมาก จากคำบอกเล่าของผู้ที่มาแก้บนในแต่ละวัน และตรุษจีนทุกปีจะมีงานสมโภช ๗ วัน ๗ คืน จึงขอเชิญชวนท่านมานมัสการสัก ๑ ครั้งจะได้ประสบพุทธานุภาพของหลวงพ่อดำสมความปรารถนา การเดินทางคมนาคมสะดวกถนนลาดยางขึ้นสู่ยอดเขา พบกับทัศนียภาพของห้วงมหาสมุทรอันสวยงามและชมพระอาทิตย์อัสดงคตได้ทุกวัน จากบทสัมภาษณ์ของ สจ.เสน่ห์ พิทักษ์กรณ์

จุดสำคัญภายในวัด

วัดช่องแสมสาร วิหารหลวงพ่อดำ

bottom of page